ขี้เหล็ก
เดิมเป็นไม้ในบริเวณเอเซียตะวันออกเฉียงใต้นับจากหมู่เกาะต่างๆ
ของประเทศอินโดนีเซียไปจนกระทั่งถึงประเทศศรีลังกา
ต่อมามีผู้นำเอาไม้ขี้เหล็กไปปลูกในบริเวณต่างๆ
สำหรับในประเทศไทยเราจะพบไม้ขี้เหล็กในแทบทุกจังหวัด ไม่ว่าจะเป็น ภาคเหนือ, ภาคกลาง, ภาคใต้ ชาวบ้านนิยมปลูกไม้ขี้เหล็กเป็นไม้ให้ร่มและเป็นไม้ประดับ
ขึ้นได้ในดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำดี
ข้อมูลจำเพาะ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cassia
siamea (Lamk.) Irwin et Barneby
ชื่อวงศ์ : Fabaceae (Leguminosae)
ชื่อพ้อง : Cassia florida Vahl, Cassia siamea
Lam.
ชื่ออังกฤษ : Cassod tree,
Siamese senna, Thai copperpod, Siamese cassia
ชื่อท้องถิ่น : ขี้เหล็กแก่น, ขี้เหล็กบ้าน, ขี้เหล็กหลวง, ขี้เหล็กใหญ่, ผักจี้ลี้, แมะขี้เหละพะโดะ, ยะหา
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้นขี้เหล็กเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงปานกลาง
ผลัดใบ สูงประมาณ 8-15 เมตร ลำต้นมักคดงอเป็นปุ่มเปลือกสีเทาถึงสีน้ำตาลดำ
ยอดอ่อนสีแดงเรื่อๆ ใบประกอบเป็นแบบขนนก เรียงสลับกัน มีใบย่อย 5-12 คู่
ปลายสุดมีใบเดียว ใบย่อยรูปขอบขนานด้านบนเกลี้ยง ดอกช่อสีเหลืองอยู่ตามปลายกิ่ง
ดอกจะบานจากโคนช่อไปยังปลายช่อ กลีบเลี้ยงมี 3-4 กลีบ กลีบดอกมี 5 กลีบ
เกสรตัวผู้10 อัน ผลเป็นฝักแบนยาวมีสีคล้ำ
เมล็ดรูปไข่ยาวแบนสีน้ำตาลอ่อนเรียงตามขวางมี 20-30 เมล็ด
เนื้อไม้มีสีน้ำตาลแก่เกือบดำ
ส่วนของดอกและใบขี้เหล็กใช้เป็นอาหารในหลายประเทศ
เช่น ไทย พม่า อินเดีย และมาเลเซีย เป็นต้น
ในตำราการแพทย์แผนไทยได้มีการบันทึกประโยชน์ของขี้เหล็กในหลายด้าน เช่น
ใช้แก้อาการท้องผูก ใช้แก้อาการนอนไม่หลับ ใช้ทำความสะอาดเส้นผม
ทำให้ผมชุ่มชื่นเป็นเงางาม ไม่มีรังแค ช่วยเจริญอาหาร บำรุงน้ำดี และบำรุงโลหิต
เป็นต้น
การปลูก
เพาะเมล็ดจนงอกใบจริง 3–5 ใบ แล้วย้ายปลูกในหลุมที่เตรียมไว้
ก่อนปลูกควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักรองกันหลุมก่อน รดน้ำให้ชุ่มทันที
การขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์ใช้เมล็ด
ลักษณะทางวิทยาศาสตร์
ในปี พ.ศ. 2485 ศาสตราจารย์ นพ.อวย
เกตุสิงห์ ได้ศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของต้นขี้เหล็ก
พบว่าใบและดอกขี้เหล็กทำให้เกิดอาการง่วงซึมและมีพิษน้อยกว่าสมุนไพรชนิดอื่นๆ
ที่ได้ศึกษา
ต่อมาจึงมีผู้ศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดใบขี้เหล็กอีกครั้งโดยใช้แอลกอฮอล์เป็นตัวทำละลาย
พบว่าสารสกัดนี้มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง เพิ่มความตึงตัวของกล้ามเนื้อเรียบ
และมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2513
คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยน็อตติ้งแฮม
ประเทศอังกฤษได้รายงานว่าสามารถสกัดสารชนิดใหม่จากใบขี้เหล็กได้
โดยตั้งชื่อว่าบาราคอล (barakol)
คุณค่าทางอาหาร
ดอกตูมและใบอ่อนของขี้เหล็กมีรสขม
ต้องคั้นน้ำทิ้งหลาย ๆ ครั้งก่อนจึงเอามาปรุงอาหารได้ นิยมนำมาทำแกงกะทิ
หรือทำเป็นผักจิ้มจะช่วยระบายท้องได้ดีทั้งดอกตูมและใบอ่อนมีสารอาหารหลายอย่างคือ
วิตามิน เอ และวิตามินซี ค่อนข้างสูงในดอกมีมากกว่าใบเอาใบขี้เหล็กมาบ่มรวมกับผลไม้จะช่วยทำให้ผลไม้สุกเร็วขึ้น
ประโยชน์ของขี้เหล็ก
การใช้ประโยชน์ทางด้านเนื้อไม้
แปรรูปใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน เช่น เสา รอด ตง เครื่องเรือนอย่างดี, เป็นฟืนให้ความร้อน 4,441 แคลอรี่/กรัม
ถ้าเป็นถ่านให้ความร้อนสูง 6,713 - 7,036 แคลอรี่/กรัม
การใช้ประโยชน์ทางด้านนิเวศน์
ปลูกเป็นพรรณไม้ปรับปรุงดินเนื่องจากใบมีธาตุไนโตรเจนสูง
ช่วยปกคลุมดินและความชื้นได้ดี
เป็นพรรณไม้ที่นิยมปลูกเป็นป่าอนุรักษ์ในที่ที่มีความชื้นปานกลาง - สูง
การใช้ประโยชน์ทางด้านโภชนาการ
ดอกและดอกอ่อนใช้รับประทานได้ ใช้ทำแกงขี้เหล็กได้
การใช้ประโยชน์ทางด้านสมุนไพร
- ดอก รักษาโรคเส้นประสาท นอนไม่หลับ
ทำให้หลับสบาย รักษาโรคหืด รักษาโรคโลหิตพิการ ผายธาตุ รักษารังแค ขับพยาธิ
- ราก รักษาไข้ รักษาโรคเหน็บชา
ทาแก้เส้นอัมพฤกษ์ให้หย่อน แก้ฟกช้ำ แก้ไข้บำรุงธาตุ ไข้ผิดสำแดง
- ลำต้นและกิ่ง เป็นยาระบาย รักษาโรคผิวหนัง
แก้โรคกระษัย แก้นิ่ว ขับปัสสาวะ ขับระดูขาว
- ทั้งต้น แก้กระษัย ดับพิษไข้ แก้พิษเสมหะ
รักษาโรคหนองใน รักษาอาการตัวเหลือง เป็นยาระบาย บำรุงน้ำดี ทำให้เส้นเอ็นหย่อน
- เปลือกต้น รักษาโรคริดสีดวงทวาร โรคหิด
แก้กระษัยใช้เป็นยาระบาย
- กระพี้ รสขมเฝื่อน แก้ร้อนกระสับกระส่าย
บำรุงโลหิต คุมกำเนิด
- ใบ รักษาโรคบิด รักษาโรคเบาหวาน
แก้ร้อนใน รักษาฝีมะม่วง รักษาโรคเหน็บชา ลดความดันโลหิตสูง ขับพยาธิ เป็นยาระบาย
รักษาอาการ นอนไม่หลับ
- ฝัก แก้พิษไข้เพื่อน้ำดี
พิษไข้เพื่อเสมหะ แก้ลมขึ้นเบื้องสูง เบื้องบน โลหิตขึ้นเบื้องบน
ทำให้ระส่ำระสายในท้อง
- เปลือกฝัก แก้เส้นเอ็นพิการ
- ใบแก่ ใช้ทำปุ๋ยหมัก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น